วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เริ่มการลงทุนในหุ้น

ประเภทนักลงทุน
นักลงทุนมีหลายประเภท มีทั้งนักเก็งกำไร นักลงทุนระยะสั้น นักลงทุนระยะยาว ขึ้นอยู่กับว่าคุณตั้งเป้าหมายการลงทุนไว้อย่างไร และคุณยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ยิ่งเสี่ยง ผลตอบแทนก็ยิ่งสูง แต่คุณก็มีโอกาสขาดทุนสูงได้ด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปแล้ว ความเสี่ยงจากการลงทุนพอจะจำแนกได้เป็น ความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจของผู้ออกตราสาร ( Business Risk ) ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ( Capital Risk ) ความเสี่ยงจากการที่ไม่สามารถขายตราสารได้ทันทีในราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสม (Liquidity Risk) ความเสี่ยงจากการที่ผู้ออกตราสารไม่ชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย (Credit Risk) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ( Interest - rate Risk ) และความเสี่ยงจากการที่ผลตอบแทนที่ได้รับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ( Inflation Risk )





คุณควรจะถามตัวคุณเองก่อนว่าคุณเป็นประเภทที่ยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน แล้วก็มาดูว่าตราสารใดที่เหมาะกับระดับการยอมรับความเสี่ยงของคุณ ถ้าคุณเป็นประเภทที่พยายามเลี่ยงความเสี่ยง รับความเสี่ยงได้ต่ำ คุณก็ควรจะเน้นเรื่องการออมในสัดส่วนที่มากหน่อย และลงทุนระยะยาวในตราสารที่ความเสี่ยงต่ำ ประเภทตราสารหนี้ที่ให้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน เช่น พันธบัตรของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ หุ้นกู้ กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ อย่างไรก็ตาม คุณต้องพิจารณาด้วยว่าผู้ออกตราสารหนี้นั้นเป็นใคร มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน จ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่หรือผันแปร เพราะความเสี่ยงของ ตราสารหนี้ ก็ขึ้นอยู่กับภาวะดอกเบี้ยด้วย ถ้าคุณเป็นประเภทที่เข้าใจความเสี่ยงและพอยอมรับได้ปานกลาง ก็อาจจะเลือกลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมาอีกหน่อย โดยเน้นการลงทุนระยะยาว มีผลตอบแทนสูงพอควร ประเภทตราสารทุน เช่น กองทุนรวม ซึ่งมีมืออาชีพช่วยบริหาร ช่วยกระจายความเสี่ยง หรือลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลดี หรือในหุ้นชั้นดีที่เรียกกันว่าหุ้น Blue Chip แต่ถ้าคุณเป็นประเภทที่ต้องการลงทุนระยะสั้น หรือเก็งกำไร เน้นผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หรือกองทุนรวมที่ลงทุนใน ตราสารทุน ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เพราะราคาผันผวนไปตามภาวะตลาดและผลประกอบการของบริษัท นอกจากนั้น ยังมีตราสารอีกประเภทหนึ่งที่จะช่วยในการบริหารความเสี่ยงของคุณได้ คือ ตราสารอนุพันธ์ เช่น ออปชั่นดัชนีราคาหุ้น อัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ ซึ่งเป็นการซื้ออนาคตของตราสารประเภทต่างๆ ที่นำมาอ้างอิงในราคาที่กำหนดเมื่อถึงเวลาที่ระบุไว้ ถ้าคุณยังไม่แน่ใจ ลองทำแบบทดสอบว่าคุณเป็นนักลงทุนประเภทไหนกันได้ ที่นี่

ผลตอบแทน
ผลตอบแทนจากการลงทุนขึ้นอยู่กับว่า คุณเลือกลงทุนในตราสารอะไร ถ้าคุณลงทุนในหุ้นของบริษัท สิ่งที่คุณจะได้รับเป็นอย่างแรกก็คือ การมีส่วนร่วมเป็น " เจ้าของกิจการ" โดยไม่ต้องลงเงินลงแรงเปิดบริษัทขึ้นมาเอง ถ้ากิจการดี เจริญรุ่งเรือง ผลกำไรดี คุณก็มีสิทธิได้รับ "เงินปันผล" จากกำไรที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ปีตราบที่คุณยังถือหลักทรัพย์นั้นอยู่ และยิ่งธุรกิจนั้นเจริญเติบโตและมีผลกำไรเพิ่มขึ้น เกิดคุณอยากขายหลักทรัพย์นั้นออกไป คุณก็น่าจะได้ราคาที่สูงกว่าเมื่อแรกซื้อมา คุณก็จะได้ "กำไรส่วนต่างจากราคาหลักทรัพย์" หรือที่เรียกกันว่า Capital Gains ซึ่งไม่เสียภาษี

ถ้าคุณลงทุนในตราสารหนี้จำพวกหุ้นกู้หรือพันธบัตรของรัฐบาล คุณก็จะมีสถานภาพเป็นเจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้ของรัฐบาลหรือบริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้น แล้วก็ได้อัตราดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนตลอดอายุของหุ้นกู้หรือพันธบัตรนั้น ซึ่งคุณยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเลือกนำมารวมคำนวณเสียภาษีปลายปีหรือไม่ก็ได้อีกด้วย และถ้าคุณซื้อขายหุ้นกู้หรือพันธบัตรนั้นในตลาดรอง คุณก็อาจมีกำไรจากส่วนต่างราคาหลักทรัพย์ได้เช่นเดียวกับหุ้นทั่วไป

ถ้าคุณลงทุนผ่านกองทุนรวม ผลตอบแทนที่คุณจะได้รับก็คือ ดอกผลที่ผู้จัดการกองทุนนำเงินของคุณไปลงทุนแล้วก็เฉลี่ยเป็นเงินปันผลกลับคืนมาให้กับผู้ถือหน่วย ซึ่งเมื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 10 แล้วก็ไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้ไปคำนวณรวมกับรายได้อื่น ๆ เพื่อเสียภาษีตอนปลายปีอีก นอกจากนั้น เมื่อคุณได้รับผลตอบแทนจากกองทุนในรูปมูลค่าเพิ่มจากการลงทุน ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้อีกด้วย ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้ลงทุนรายย่อยก็คือ มีโอกาสกระจายความเสี่ยงในการลงทุนประเภทต่าง ๆ และประหยัดเวลาแก่ผู้ที่ไม่มีเวลาติดตามข่าวสารการลงทุน

เริ่มลงทุน
เมื่อคุณกำหนดเป้าหมายการลงทุนของคุณชัดเจนแล้ว ก็มาดูว่าคุณจะลงทุนในตราสารใด ในตลาดไหน ถ้าคุณจะลงทุนในตลาดรอง หรือในตลาดหลักทรัพย์ คุณก็ต้องซื้อขายผ่าน โบรกเกอร์ ซึ่งจะต้องมีการ เปิดบัญชีซื้อขายกับโบรกเกอร ์เสียก่อนจึงจะสั่งซื้อขายได้ เนื่องจากโบรกเกอร์จะทำหน้าที่เป็นนายหน้าตัวแทนในการส่งคำสั่งซื้อขายของคุณเข้ามาในระบบซื้อขายของตลาดรอง
นอกจากนั้น ประชาชนทั่วไปยังสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์นั้น ๆ ได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ เพียงแต่จองผ่านผู้จัดจำหน่าย (Underwriter) ซึ่งก็คือ การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดแรก (Initial Public Offering: IPO) หรือที่เรามักเรียกกันว่าหุ้นจองนั่นเอง
คุณยังสามารถเลือกลงทุนผ่านกองทุนที่บริหารโดยบริษัทจัดการกองทุน ซึ่งมีอยู่หลายประเภทได้อีกด้วย ทั้งกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น ถ้าเป็นกองทุนรวมแบบปิด คุณก็อาจจะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกด้วย (ถ้าเขานำมาจดทะเบียน) แต่ละกองทุนก็มีนโยบายลงทุนแตกต่างกัน เช่น ลงทุนในตราสารทุน ลงทุนในตราสารหนี้ หรือแบบผสม เป็นต้น ดังนั้น คุณควรศึกษาหนังสือชี้ชวนของแต่ละกองทุนให้ดี ก่อนตัดสินใจซื้อหน่วยลงทุน
มีหลายปัจจัยที่คุณควรคำนึงถึงก่อนเริ่มลงทุน หลัก ๆ เลย ก็คือ อายุ เพราะในแต่ละช่วงอายุ คุณก็จะมีเป้าหมายทางการเงินและระดับการยอมรับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน อายุน้อย ก็อาจจะเสี่ยงได้มากกว่าคนอายุมาก ถ้าพลาด ก็ยังแก้ตัวใหม่ได้ ปริมาณการลงทุนจึงสูงตามไปด้วย แต่ถ้าคุณอยู่ในวัยเกษียณ คุณก็ควรจะใช้เงิน “ ก้อนสุดท้าย ” ของคุณอย่างระมัดระวังและเสี่ยงน้อยหน่อย สัดส่วนของเงินที่จะนำมาลงทุน ก็อาจจะน้อยลงไปด้วย คุณจึงควรวางแผนการลงทุนของคุณให้เหมาะสมกับอายุของคุณด้วย อีกปัจจัยที่ต้องพิจารณา ก็คือ อาชีพ เพราะตัวนี้เป็นตัวกำหนดเวลาที่จะให้กับการลงทุนของคุณ ถ้าคุณทำงานส่วนตัว ก็อาจจะมีเวลาเข้ามาดูแลการลงทุนของคุณมากสักหน่อย เมื่อมีเวลาเอาใจใส่อย่างเต็มที่ กลยุทธ์การลงทุนก็อาจหลากหลายกว่า อาจจะเล่นสั้น หรือ เดย์เทรดได้ แต่ถ้าคุณไม่ค่อยมีเวลา ก็อาจจะเน้นลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาวไป อันนี้ก็ต้องแล้วแต่แนวคิดของคุณที่มีต่อการลงทุนด้วย นอกจากนั้นแล้ว คุณควรจะคำนึงถึง “ ทัศนคติ ” และ “ จิตใจ ” ของคุณด้วยว่า คุณเชื่อมั่นในตัวเองแค่ไหน และเป็นคนถูกกระตุ้นได้ง่ายแค่ไหน เพราะในโลกของการลงทุน คุณต้องใช้วิจารณญาณของคุณตัดสินใจเอง ทั้งในการพิจารณาข่าวลือ และคำแนะนำของเจ้าหน้าที่การตลาด ดังนั้น คุณต้องรู้จักฟัง รู้จักเชื่อ และต้องรู้จักเรียนรู้อยู่เสมอเพื่อให้ตัดสินใจลงทุนได้ถูกต้องและปลอดภัยมากขึ้น

มีเงินเท่าไร ถึงจะลงทุนได้
เดิม คุณอาจจะคิดว่า ต้องมีเงินเป็นแสนเป็นล้านบาท ถึงจะเริ่มลงทุนได้ จริง ๆ แล้ว การลงทุนไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากเลย ขึ้นอยู่กับว่าคุณอายุมากน้อยแค่ไหน วางเป้าหมายทางการเงินไว้อย่างไร รับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน จะจัดสรรเงินมาลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน หรือจะเลือกลงทุนวิธีไหน ในตราสารใด ถ้าคุณลงทุนในกองทุนรวม เงินเพียงไม่กี่พันบาทก็สามารถซื้อหน่วยลงทุนได้แล้ว หรือถ้าคุณต้องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีแต่เงินลงทุน ( ซึ่งก็เริ่มได้ตั้งแต่หลักพันบาทเหมือนกัน) แต่ไม่มีหลักประกันใช้เปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ เพราะค่อนข้างสูงเป็นหลักแสนสำหรับคนที่เลือกซื้อขายแบบดั้งเดิม คนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานมาได้ไม่นาน ก็อาจจะไม่สามารถเปิดบัญชีได้ แต่ในวันนี้ การลงทุนในหลักทรัพย์ไม่ได้ใช้เงินมากอย่างที่คิด ยังมี การซื้อขายแบบออนไลน ์ขึ้นมาให้คุณเลือกได้อีกทางหนึ่ง เพียงคุณมีเงินทุนแค่หมื่นบาทก็เริ่มซื้อขายได้แล้ว จึงช่วยให้คุณเริ่มลงทุนได้ง่ายขึ้น และยังทำให้คุณเรียนรู้การลงทุนได้จากประสบการณ์จริงไปด้วย แม้คุณจะอยู่ในวัยเริ่มต้นทำงาน มีเงินทุนจำนวนไม่มากนักก็ตาม

ตัดสินใจลงทุนได้อย่างไร
ก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้นไหนสักตัว คุณควรจะศึกษาข้อมูลของกิจการที่สนใจลงทุน โดยพิจารณาฐานะการเงิน ผู้บริหาร ผลการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคต พิจารณาสภาวะแวดล้อมด้านเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ การเมืองและ ภาวะอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาฐานะการเงินของบริษัทจากงบการเงินว่ามีความสามารถในการบริหารงานได้กำไรมากน้อยเพียงใด และยังต้องพิจารณาข้อมูลสถิติอื่น ๆ ที่สำคัญประกอบกัน และรู้จักวิเคราะห์ทิศทางการลงทุนจากภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวม โดยดูจากการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาหุ้นหรือ SET Index ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ อยากรู้ว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่คุณจะต้องพิจารณา และจะหาข้อมูลนั้น ๆ ได้จากแหล่งใด ลองหาคำตอบได้ ที่นี่

ทดลองลงทุนก่อนได้หรือไม่
การลงทุนไม่ใช่เรื่องยาก ปัจจุบัน มีหลายหน่วยงานเปิดโอกาสให้คุณเข้ามาสัมผัสการลงทุนโดยให้คุณทดลองลงทุนแบบเสมือนจริงได้ ไม่ว่าจะเป็น Mini Click2WIN ในงานรวมพลคนออนไลน์ หรือโครงการ University Stock Competition ซึ่งตลาดหลักทรัพย์จัดร่วมกับหน่วยงานอื่นเป็นประจำทุกปี หรือ การแข่งขัน Click2WIN ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะเริ่มการแข่งขันในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ ซึ่งคุณสามารถสมัครเข้าร่วมแข่งขันได้ แถมยังอาจได้รางวัลติดไม้ติดมือไปอีกด้วย นอกจากนั้น คุณยังสามารถสมัครบริการ Free Trial ซื้อขายหุ้นออนไลน์ของโบรกเกอร์ที่ให้บริการได้อีกด้วย ซึ่งจะให้คุณทดลองใช้ได้ประมาณ 15-30 วัน และยังมีบริการเสริมให้คุณติดตามราคาหุ้นหรือข้อมูลอื่นเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจอีกด้วย

วิธีชำระเงินค่าซื้อค่าขายหุ้น
เมื่อคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของคุณได้รับการจับคู่เพื่อซื้อขายเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็จะต้องมีกระบวนการ ชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย ์ ถ้าคุณสั่งซื้อหลักทรัพย์ก็จะต้องจ่ายเงินค่าซื้อหลักทรัพย์นั้น และถ้าคุณสั่งขายหลักทรัพย์ก็จะได้รับเงินค่าขายหลักทรัพย์และส่งมอบหลักทรัพย์นั้นเช่นกัน ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่ทำการซื้อหรือขาย พร้อมทั้งจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่านายหน้า (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7) ให้แก่โบรกเกอร์หรือซับโบรกเกอร์ของคุณทุกครั้งที่มีรายการซื้อขายเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันอัตราค่านายหน้าขั้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ 0.25 สำหรับการซื้อขายแบบดั้งเดิม และร้อยละ 0.21 สำหรับการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต ส่วนวิธีการชำระเงินนั้น แล้วแต่ว่าคุณตกลงกับโบรกเกอร์ไว้แบบไหน เพราะมีทั้งชำระเงินสดภายในระยะเวลาที่กำหนดจะด้วยการโอนเงิน หรือจะใช้บริการชำระเงินอัตโนมัติ Automatic Transfer Service ( ATS ) หรือนำเช็คเข้าบัญชีของโบรกเกอร์ก็ได้ หรือคุณจะวางเงินล่วงหน้า ( Pre - paid ) ไว้กับโบรกเกอร์ เพื่อใช้ตัดบัญชีชำระค่าซื้อขายของคุณก็ยังได้

เป็นนักลงทุนที่ดีได้อย่างไร
นักลงทุนที่ดีต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างเพียงพอ เข้าใจถึงหลักการลงทุนที่ถูกต้อง ผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุน เพราะการลงทุนอย่างมีหลักการจะช่วยลดความเสี่ยง และมีโอกาสที่จะได้รับทั้งผลตอบแทนต่าง ๆ ที่คาดหวัง และที่สำคัญ คุณต้องมีเวลาและหมั่นศึกษาติดตามข้อมูล สถานการณ์ ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ และสามารถนำมาวิเคราะห์ ( ทั้งปัจจัยพื้นฐานและทางเทคนิค) เพื่อตัดสินใจลงทุนอย่างมีหลักการและเหมาะสมกับสถานการณ์ เราขอแนะนำให้คุณศึกษาเพิ่มเติมว่ามี ข้อมูลพื้นฐาน ใดบ้างที่คุณควรพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนของคุณ

Credit: www.settrade.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น